วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557


บทที่ 1 หน้าที่พลเมืองและวัฒนธรรมไทย


พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยในสังคมไทย

     พลเมือง หมายถึง พละกำลังของประเทศ ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศนั่นเอง ต่างจากชาวต่างด้าวเข้าเมือง ชาวต่างประเทศนี้เข้ามาอยู่ชั่วคราว
พลเมืองมีความหมายต่างจากบุคคล ซึ่งหมายถึง สิ่งซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศใด ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่มีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศไทยย่อมหมายถึงคนทั้งหลายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย
พลเมืองของแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น บุคคลต่างสัญชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยซึ่งเรียกว่าคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมือง และมีหน้าที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีหน้าที่เสียภาษี หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศบัญญัติไว้
สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งคู่กัน เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ พลเมืองของทุกประเทศมีทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และแน่นอนว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิมากกว่าการปกครองในระบอบอื่น เพราะมีสิทธิที่สำคัญที่สุด คือ สิทธิในการปกครองตนเอง


หน้าที่ของพลเมืองดี
     พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำ และกิจที่ควรทำ
     หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำ หรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำ หรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวมแล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือ ได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำ คุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น
     กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น
พลเมืองดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของศาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ



การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี

บุคคลจะเป็นพลเมืองดีของสังคมนั้น ต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติ และมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับหลักธรรม วัฒนธรรมประเพณี และรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ รวมทั้งบทบาททางสังคมที่ตนดำรงอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้ประสิทธิผลทั้งในส่วนตนและสังคม เมื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและเกิดผลดีทั้งต่อตนเองและสังคม ด้วยการเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนและสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างผาสุข


พลเมืองดี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. หน้าที่ของพลเมืองดีของสังคม
หน้าที่เป็นภารกิจที่บุคคลต้องกระทำเพื่อสร้างคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาเป็นคนและค่าของคนอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ โดยมีความรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญ และต้องสอดคล้องกับบทบาททางสังคมที่แต่ละบุคคลดำรงอยู่ หน้าที่จึงเป็นภารกิจที่จะต้องกระทำเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ตามหลักศีลธรรม กฎหมาย หรือจิตสำนึกที่ถูกต้องเหมาะสม หน้าที่ที่เป็นภารกิจของพลเมืองดีโดยทั่วไปพึงปฏิบัติ มีดังนี้
การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม
การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม เป็นหน้าที่ของพลเมืองดีพึงปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
    
      1. จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม
จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม เป็นคำที่มักใช้ปะปนกัน หากจะพิจารณาความหมายของคำศัพท์ที่นำมาประกอบกันเป็นคำเหล่านี้ พอจะแยกได้ ดังนี้
จริย กริยาที่ควรประพฤติ
คุณ ดี มีประโยชน์
ศีล การประพฤติปฏิบัติดีตามปกติวิสัย

จริยธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย
คุณธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
ศีลธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย พร้อมกันนั้นก็สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย

ความสำคัญของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม มนุษย์นับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความสำคัญมากที่สุดในโลก เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สามารถเรียนรู้และรับการฝึกอบรมสั่งสอน จนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อโลกได้ ในการเรียนรู้และการฝึกอบรมเพื่อสะสมประสบการณ์ชีวิต มนุษย์ควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพราะคุณธรรมจริยธรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นอย่างมาก อาจสรุปความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมได้ดังนี้ คือ
  1. ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสงบสุข ไม่พบอุปสรรค
  2. ช่วยให้คนเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอตัว ไม่ลืมตัว จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็จะ ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
  3. ช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้แก่บุคคลในชาติ
  4. ช่วยควบคุมไม่ให้คนชั่วมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น นับว่าเป็นคุณแก่สังคม เพราะนอกจากจะเป็นตัวอย่างโดยการชี้นำทางอ้อมแล้ว ยังจะออกปากแนะนำสั่งสอนโดยตรงได้อีกด้วย
  5. ช่วยให้มนุษย์นำความรู้และประสบการณ์ ที่ร่ำเรียนมาสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า
  6. ช่วยควบคุมการเจริญทางด้านวัตถุและจิตใจของคนให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน
  7. ช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้มนุษย์
ความสำคัญของคุณธรรม และจริยธรรมที่กล่าวมานี้ ประเด็นที่สำคัญก็คือ สามารถลดปัญหา และขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติได้ เมื่อทุกคนประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว อุปสรรค ศัตรู ภัยอันทราย ก็จะหมดสิ้นไป ผู้คนมีแต่ความรักต่อกัน สังคมมีแต่ความสงบ และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง


ลักษณะของจริยธรรม คุณธรรม

คุณธรรมและจริยธรรม คือ สิ่งที่เป็นความดีควรประพฤติปฏิบัติ เพราะจะนำความสุข ความเจริญ ความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ สังคม และบุคคล คุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้
1. ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ นับว่ามีพระคุณอย่างมหาศาล เพราะเป็นสถานที่ ที่เราทุกคนอยู่อาศัยอย่างผาสุกตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เราได้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ให้เราได้ภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีชาติเป็นของตนเอง ไม่เป็นทาสใคร เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อชาติ รักและหวงแหน ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ชาติเป็นเอกสารสืบไป ป้องกันไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย ปกป้องชื่อเสียงไม่ให้ใครมาดูแคลน และประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาติบ้านเมือง ศาสนา เป็นที่พึ่งทางกายและทางจิตใจ ทำให้มนุษย์ดำรงชีพร่วมกันในสังคมอย่างมีสันติสุข เรามีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบต่อไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา สร้างและบูรณะ ศาสนาสถาน ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิจ ประพฤติต่อผู้อื่นด้วยความสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นศูนย์รวมของชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงเป็นผู้นำและผู้ปกป้องชาติและศาสนา ทรงบำบัดทุกข์และบำรุงสุข ให้แก่ราษฎรด้วยความเสียสละในทุก ๆ ด้าน เราต้องเทิดทูนพระองค์ไว้สูงสุด รับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มความสามารถ ประพฤติตนเป็นคนดีไม่เป็นภาระแก่พระองค์ และถ้ามีความจะเป็นแม้ชีวิตของเราเองก็สามารถจะถวายพลีชีพได้ เพื่อความเป็นปึกแผ่น และยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หมายถึง การปฏิบัติกิจการงานของตนเอง และที่ได้รับมอบหมายด้วยความมานะพยายาม อุทิศกำลังกาย กำลังใจอย่างเต็มความสามารถ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนงานประสบความสำเร็จตรงตามเวลา บังเกิดผลดีต่อตนเองและส่วนรวม ทั้งนี้รวมไปถึงการรับผิดเมื่องานล้มเหลว พยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโดยไม่เกี่ยงงอนผู้อื่น
3. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การเป็นผู้รู้และปฏิบัติตามแบบแผนที่ตนเอง ครอบครัว และสังคมกำหนดไว้ โดยที่จะปฏิเสธไม่รับรู้กฎเกณฑ์หรือกตาต่าง ๆ ของสังคมไม่ได้ คุณธรรมข้อนี้ต้องใช้เวลาปลูกฝังเป็นเวลานาน และต้องปฏิบัติสม่ำเสมอจนกว่าจะปฏิบัติเองได้ และเกิดความเคยชิน การมีระเบียบวินัยช่วยให้สังคมสงบสุขบ้านเมืองมีความเรียบร้อย เจริญรุ่งเรือง
4. ความซื่อสัตย์ หมายถึง การปฏิบัติตน ทางกาย วาจา จิตใจ ที่ตรงไปตรงมา ไม่แสดงความคดโกงไม่หลอกลวง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ลั่นวาจาว่าจะทำงานสิ่งใดก็ต้องทำให้สำเร็จเป็นอย่างดี ไม่กลับกลอก มีความจริงใจต่อทุกคน จนเป็นที่ไว้วางใจของคนทุกคน
5. ความเสียสละ หมายถึง การปฏิบัติตนโดยอุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมด้วยความตั้งใจจริง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ คุณธรรมด้านนี้เป็นการสะสมบารมีให้แก่ตนเอง ทำให้มีคนรักใคร่ไว้วางใจ เป็นที่ยกย่องของสังคม ผู้คนเคารพนับถือ
6. ความอดทน หมายถึง ความเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใด ๆ มุ่งมั่นที่จะทำงานให้บังเกิดผลดีโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความอดทนมี 4 ลักษณะ คือ
- อดทนต่อความยากลำบาก เจ็บป่วย ได้รับทุกขเวทนาก็ไม่แสดงอาการจนเกินกว่าเหตุ
- อดทนต่อการตรากตรำทำงาน ไม่ทอดทิ้งงาน ฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จ
- อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงความโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท อดทนต่อคำเสียดสี
- อดทนต่อกิเลส คือ ไม่อยากได้ของผู้อื่นจนเกิดทุกข์ ไม่ตอบโต้คนอื่นที่ทำให้เราโกรธ และไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่จะพาเราไปพบกับความเสียหาย
7. การไม่ทำบาป หมายถึง การงดเว้นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเพราะเป็นเรื่องเศร้าหมองของจิตใจ ควรงดเว้นพฤติกรรมชั่วร้าย 3 ทาง คือ
- ทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ผิดประเวณี
- ทางวาจา เช่น ไม่โกหก ไม่กล่าวถ้วยคำหยาบคาย ไม่ใส่ร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ
- ทางใจ เช่น ไม่คิดเนรคุณ ไม่คิดอาฆาต ไม่คิดอยากได้
8. ความสามัคคี หมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีการเกี่ยงงอนหรือคิดชิงดีชิงเด่นกัน ทุกคนมุ่งที่จะให้สังคมและประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีความรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยความจริงใจ ความไม่เห็นแก่ตัว การวางตนเสมอต้นเสมอปลายก็หมายถึงความสามัคคีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น